หลักการและเหตุผล
ตามที่พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 136 ตอนที่ 67 ก เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาท เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และลดกระบวนการในชั้นศาล เป็นการประหยัดเวลาและทรัพยากรที่ใช้ในกระบวนการพิจารณาคดี อันจะเกิดประโยชน์แก่ภาวะระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดจนคู่กรณีกลับมาสมานฉันท์สามัคคีกันเช่นเดิม
การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รับรองโดยคณะกรรมพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรฯ จะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทนายความจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจึงจัดให้มีการจัดโครงการอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของผู้เข้าอบรม สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยทั้งในภาครัฐและภาคประชาชน ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของกระทรวงยุติธรรม คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม…